สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค

Circular Economy Academy for Entrepreneurs and Consumers

ความเป็นมา

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy หรือ CE) เป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของประเทศที่รู้จักกันดีคือ ยุทธศาสตร์ BCG Economy Model ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายมิติในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

การขับเคลื่อนภารกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภาคส่วนของธุรกิจการค้า บริการ ท่องเที่ยว เกษตร อาหาร และอุตสาหกรรม ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้างนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมิติของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในแง่กระบวนการจัดการและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างคุณค่าแก่ผู้ประกอบการได้โดยตรง โดยอาศัยรากฐานขององค์ความรู้เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ได้รับการวิเคราะห์ พัฒนา และถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการ การถอดบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้ประกอบการ ตลอดจนการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากการวิจัย รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมและพฤติกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นพลังขับเคลื่อนอันสำคัญยิ่ง

อีกทั้ง การบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนยังจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนในมิติเชิงนโยบาย มาตรการทางกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทบาทของหอการค้าไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่จะต้องร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) อย่างจริงจัง

สภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้มีมติอนุมัติให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดตั้ง สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค (Circular Economy Academy for Entrepreneurs and Consumers) ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อ 22 กรกฎาคม 2565 เพื่อเปิดดำเนินการตั้งแต่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ตามข้อเสนอความร่วมมือจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ซึ่งมีคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนภารกิจ